1 2 3 4
ข่าว และ สาระน่ารู้ >> กฎหมายน่ารู้
เรียนรู้ เข้าใจ กฎหมายควบคุมอาคาร
เรียนรู้ เข้าใจ กฎหมายควบคุมอาคาร
 กฎหมายควบคุมอาคาร คือ กฎหมายเพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร เช่น การป้องกันอัคคีภัย ระบบระบายอากาศภายในอาคาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม การจัดการด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ การจัดการมูลฝอยที่เกิดขึ้นเพื่อสุขอนามัย ไม่เป็นแหล่งเพาะและแพร่เชื้อโรค ป้องกันมลพิษ และหากจะดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้ในท้องที่ที่ได้มีกฎหมายควบคุมอาคารใช้บังคับแล้ว ต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน

         เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคาร เพื่อใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภทรวมกันเพิ่มมากขึ้น โครงสร้างและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบของอาคารจะแตกต่างกันไปตามประเภทของอาคารและการใช้สอย การควบคุมอาคารจึงทำเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ตลอดจนการวางแผนการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคของรัฐ

กฎหมายควบคุมอาคาร ประกอบด้วย

  1. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมีการเพิ่มเติมความโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักหรือกฎหมายแม่บท

  2. กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดสำหรับกฎหมายที่ช่วยในการรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เพิ่มเติมตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ ได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ว่าด้วยการกำหนดแบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบการป้องกันอัคคีภัย ระบบการจัดแสงสว่างและการระบายอากาศ, กฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550, กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555 และกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พ.ศ. 2555 เป็นต้น

  3. ข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดให้เหมาะสมกับท้องถิ่น เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สำหรับเขตกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 



โพสเมื่อ : 2018-10-01
TAG : http://www.buildingsafetycode.com/learning.php